การประกอบพิธีฮัจย์
ประวัติบางส่วนของพิธีฮัจย์ และการประกอบพิธีอุมเราะฮุ การที่มุสลิมต้องไปประกอบพิธีฮัจย์นั้น เพราะอยู่ในหลักปฏิบัติของอิสลาม
หลักปฏิบัติของอิสลาม 5 ประการคือ
หลักปฏิบัติของอิสลาม 5 ประการคือ
1.การกล่าวปฏิญาณตน
2.การละหมาด
3.การถือศีลอด
4.การจ่ายซะกาต
5.การประกอบพิธีฮัจย์
การประกอบพิธีฮัจย์ เป็นหลักการหนึ่งของรุก่นอิสลาม อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ในคัมภีร์ อัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน อายะฮฺที่ 97 ความว่า :และสำหรับอัลลอฮฺ(มีบทบัญญัติ) เหนือบรรดามนุษย์ คือการทำฮัจย์ ณ บัยตุลลอฮฺ สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางไปได้
หมายถึงว่า มุสลิมที่มีสุขภาพแข็งแรง สติปัญญาสมบูรณ์ มีทรัพย์สินเพียงพอในการใช้จ่ายโดยมิต้องเป็นหนี้สินและเดือดร้อนบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ และเส้นทางที่จะเดินทางไปจะต้องปลอดภัย
ดังนั้น การนำที่ดินและทรัพย์สินไปจำนอง จำนำ หรือขาย เพื่อนำไปประกอบพีธีฮัจย์ โดยกลับมาแล้วไม่มีที่ทำกิน หรือเป็นเหตุที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ลูกหลาน จึงเป็นการกระทำที่ผิดศาสนบัญญัติ เช่นเดียวกับคนที่มีความสามารถพร้อมแต่ไม่ยอมไปเพราะเสียดายทรัพย์สินจะพร่องไป และถ้าหากไม่มีความสามารถด้านทรัพย์ และสุขภาพ ก็ไม่เป็นความผิดอย่างไร เพราะตกอยู่ในเหตุของการด้อยความสามารถ
การทำฮัจญ์เป็นอิบาดะห์หลักต่อ อัลลอฮฺ ซึ่งมีเป้าหมายในการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ต้องใช้ความอุตสาหะ เสียสละทั้งกำลังกาย ทรัพย์ กำลังสติปัญญาและมีความสามารถอดทนต่อความยากลำบาก และมีความสามารถที่จะไปได้ โดยไม่ต้องกู้หนี้ ยืมสินของบุคคลอื่น

พิธีฮัจญ์จะทำในเดือน ซุล-ฮิจยะห์ (เดือนที่ 12 ของปีฮิจเราะห์ศักราช) ของแต่ละปี การกำหนดพิธีฮัจย์นั้น จะใช้การดูเดือน เพื่อกำหนดวันต่างๆ โดยจะดูเดือนกันในวันที่ 29 เดือน ซุลเกี๊ยะดะห์ เพื่อกำหนด วันที่ 1 เดือนซุลฮิจยะห์ และวันที่ 10เดือนซุลฮิจยะห์ จะเป็นวัน อีดิ้ลอัฎฮา หรือ อีดใหญ่(รายอ)ที่บ้านเรา ผู้ที่ไม่ได้ไปประกอบพิธีฮัจย์จะทำกรุบาน (เชือดสัตว์ และแบ่งปันเนื้อให้กับผู้ยากไร้)
การประกอบพิธีฮัจญ์มี 3 แบบ
1.ตะมัตตัวะอฺ คือผู้ครองอิหฺรอมตั้งเจตนาทำอุมเราะฮฺก่อนการทำฮัจย์ ขณะที่เข้าสู่เทศกาลฮัจญ์แล้ว
2.อิฟร้อด คือผู้ครองอิหฺรอมหลังจากการทำการตอวาฟกุดูมแล้วเขาจะต้องสวมชุดอิหฺรอมจนกระทั้งถึงวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺหลังจากนั้นจึงทำอุมเราะฮฺ
3.กิรอน คือผู้ครองอิหฺรอมตั้งเจตนาทำอุมเราะฮฺและการทำฮัจย์พร้อมกัน หลังจากการทำอุมเราะฮฺคือตอวาฟและสะแอแล้ว ไม่ต้องโกนศีรษะหรือตัดผม แต่ให้เขาครองอิหฺรอมกระทั้งถึงวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ
สถานที่สำคัญที่ใช้ในการประกอบพิธีฮัจย์คือ
ทุ่งอารอฟะห์, ตำบลมุซดะลิฟะห์, ตำบลมีนา, และอัล-กะบะฮฺ (การตอวาฟรอบกะบะห์นี้ไม่ได้กระทำพร้อมกันในเวลาเดียวกัน)
ตารางเวลาและเส้นทางการทำฮัจย์ (เป็นขั้นตอนหลักที่สำคัญ)
1. ผู้ทำฮัจญ์แบบตะมัตตัวะอฺ ครองอิหฺรอมเพื่อเจตนาทำฮัจย์ ที่บ้านพักในมักกะฮฺเช้าวันที่ 8
2. ออกเดินทางจากมักกะฮฺมุ่งสู่มีนา และพักค้างแรมที่นั่น (วันตัรวียะฮฺ วันที่ 8)
3. ออกเดินทางจากมีนามุ่งสู่อะระฟะฮฺเพื่อทำการวุกูฟ (ออกจากมีนา เช้าวันที่ 9)
4. หยุดอยู่ที่อะรอฟะฮฺเพื่อทำการวุกูฟ ตั้งแต่เวลาบ่ายจนถึงเวลามัฆริบ (วันอะรอฟะฮฺที่ 9)
5. ออกจากอะรอฟะฮฺตั้งแต่เวลามัฆริบมุ่งสู่มุซดะลิฟะฮฺ และพักค้างแรมที่นั่น ( คืนวันที่10 )
6. ออกจากมุซดะลิฟะฮฺ มุ่งสู่มีนา เพื่อขว้างเสาหินหน้าเดียวต้นที่3 ญัมเราะตุ้ลอะกอบะฮฺ (เช้าวันที่10วันอีด)
7. ตัดผมหรือโกนศีรษะ เปลื้องชุดอิหฺรอม(อยู่ในชุดอิหรอมเป็นเวลา3วันคือวันที่8-10)
8. พักแรมที่มีนา และขว้างเสาหินทั้ง 3 ต้นโดยขว้างเรียงกันไป1-3 เป็นเวลา 3 วัน (วันตัชรีก วันที่ 11 - 12 - 13)
9. ออกเดินทางจากมีนา มุ่งสู่เมืองมักกะฮฺ (ก่อนดวงอาทิตย์ตก)
10.การฏอวาฟบัยตุลลอฮฺ 7 รอบ
11.การเดินสะแอระหว่างภูเขาซอฟาและมัรวะฮฺ 7 เที่ยว
12.การฏอวาฟวิดาอฺ ( ฏอวาฟอำลา คือการเวียนรอบกะบะฮฺเป็นครั้งสุดท้ายก่อนออกจากดินแดนเมืองมักกะฮฺเพื่อจะเดินทางกลับ)
พิธีฮัจย์ตามรุก่นและวาญิบ
- การครองอิหฺรอม คือการตั้งเจตนาเข้าสู่พิธีฮัจย์ (รุก่น)
- การวุกูฟที่ทุ่งอะรอฟะฮฺ เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์คล้อยของวันที่ 9 ซุลฮิจญะฮฺ จนกระทั้งดวงอาทิตย์ตก (รุก่น)
- การโกนศีรษะหรือการตัดผม(รุก่น)
- การฏอวาฟบัยตุลลอฮฺ 7 รอบ (รุก่น)
- การเดินสะแอระหว่างภูเขาซอฟาและมัรวะฮฺ 7 เที่ยว (รุก่น)
- การค้างแรมที่มุซดะลิฟะฮฺ เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกของคืนวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ จนกระทั้งเวลาซุบฮฺ (วาญิบ)
- การขว้างเสาหิน 7 ก้อนที่ญัมรอตุลอะเกาะบะฮฺ ที่มีนา เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นของวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ จนกระทั้งดวงอาทิตย์ตก (วาญิบ)
- การค้างแรมที่มีนา ในค่ำคืนของวันตัชรีก (วาญิบ)
- การขว้างเสาหินทั้ง 3 ต้น ในวันที่ 11 12 13 ซุลฮิจญะฮฺ ต้นละ 7 ก้อน (วาญิบ)
- การฏอวาฟวิดาอฺ (ฏอวาฟอำลา คือการเวียนรอบกะบะฮฺเป็นครั้งสุดท้ายก่อนออกจากดินแดนเมืองมักกะฮฺเพื่อจะเดินทางกลับ) (วาญิบ)
รุก่นและวาญิบของการประกอบพิธีฮัจย์ มีความแตกต่างกัน คือ
ผู้ใดละทิ้งรุก่นหนึ่งรุก่นใดของการทำฮัจย์ การทำฮัจญ์ของเขาใช้ไม่ได้ และจำเป็นจะต้องไปทำฮัจญ์ใหม่ในปีต่อไป ส่วนผู้ที่ละทิ้งวาญิบ ข้อหนึ่งข้อใด จำเป็นที่เขาจะต้องเสียดัม (เชือดสัตว์พลี)
ข้อห้ามสำหรับผู้ที่ครองอิหฺรอม
ห้ามสวมเสื้อผ้าที่มีรอยเย็บ กางเกง กางเกงชั้นใน ห้ามสวมหมวก (สำหรับผู้ชาย)
ห้ามใส่เครื่องหอมหรือน้ำหอมทุกชนิด
ห้ามตัดเล็บ ตัดผม โกนหนวด
ห้ามพูดจาหยาบคาย ไร้สาระ เกี้ยวพาราสี การนินทา และการทะเลาะวิวาท
ห้ามมีเพศสัมพันธ์ เล้าโลม กอดจูบ
ห้ามจัดพิธีนิกะฮฺ(แต่งงาน)หรือการหมั้น
ห้ามไล่ล่าสัตว์ในเขตแผ่นดินฮะราม(ห้าม)
ห้ามตัดหรือถอนต้นไม้ในเขตแผ่นดินฮะราม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น