วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การบริจากทานหรือบริจากซะกาต

การบริจาคซะกาต

ซะกาต เป็นคำที่มา จากภาษาอาหรับว่า "ซะกาฮฺ" แปลว่า การทำให้บริสุทธิ์ ทำให้หมดมลทิน หรือการเกลากิเลสตัณหา และหมายถึงการจำเริญงอกงาม การเพิ่มทวี

ในอิสลาม ถือว่าการบริจาคทานเป็นหลักปฏิบัติรองลงมาจากการละหมาด คำว่า "ทาน" ตามทัศนะของอิสลามมีความหมายกว้าง รวมทั้งการให้ทรัพย์สมบัติ สติปัญญา กำลัง กาย เพื่อความดีงามและประโยชน์แก่ผู้อื่นหรือแก่ส่วนรวมด้วย

การบริจาคทานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ทานอาสา และทานบังคับ ในที่นี้จะกล่าวถึงทานซึ่งใช้บังคับแก่มุสลิมทุก ๆ คน

ความมุ่งหมายของซะกาต ก็เพื่อให้ทรัพย์สินที่หามาได้และที่มีอยู่ (ในทางสุจริต) เป็นทรัพย์ที่บริสุทธิ์ตามหลักการของอิสลาม และเป็นการขัดเกลาจิตใจของผู้บริจาคให้สะอาดบริสุทธิ์ ลดความตระหนี่ ขี้เหนียว เห็นแก่ตัว มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นการเตือนการสอนให้มนุษย์ไมาตกเป็นทาสของวัตถุ ไม่เกิดความละโมบ และให้มนุษย์มีความตระหนักว่า บรรดาทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เขาได้มานั้นเป็นของฝากจากอัลเลาะห์ มนุษย์เป็นเพียงผู้รักษาและใช้จ่ายไปในทางที่อัลเลาะห์ทรงกำหนด เช่น ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย และจะต้องจ่ายส่วนหนึ่งให้แก่ผู้ที่ยากจน เพื่อลดช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคม ซึ่งเป็นการสร้างเสริมหลักประกันของสังคมให้มั่งคงขึ้น

"ดังนั้นผู้มีฐานะทางเศรษกิจดีเท่าใด ก็ต้องจ่ายแก่ผู้มีสิทธิ์รับซะกาตมากเท่านั้น"

### ผู้ที่ต้องบริจาคซะกาต ### คือ ผู้ที่มีทรัพย์สินครบรอบปีและเกินจำนวนที่กำหนดไว้

สิ่งที่จะต้องบริจาคเป็นซะกาต ได้แก่

  1. ทองคำ เงินแท่ง และเงินตรา
  2. รายได้จากปศุสัตว์
  3. รายได้จากพืชผล
  4. รายได้จากธุรกิจการค้า
  5. ขุมทรัพย์ 

* หลักการอิสลามได้กำหนดจำนวนที่แน่นอนว่าสิ่งดังกล่าวนั้นจะต้องมีเกินจำนวน เท่าใด จึงจะต้องบริจาคเป็นซะกาต และแต่ละชนิดนั้นจะต้องบริจาคเป็นจำนวนเท่าใด

เช่น เงินตราที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หากเก็บสะสมไว้เกินราคาของทองคำหนัก 85 กรัม หรือ 5.67 บาท จะต้องบริจาคเท่าอัตราของเงินและทองคำ คือเท่ากับ 2.5 %

แต่เฉพาะเงินตราที่ ตั้งจำนวนกำหนดที่จะต้องออกซะกาตไม่ตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาทองคำในปีนั้น ๆ ซึ่งนับว่าเป็นความยุติธรรม เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ตัวบ่งชี้อย่างดีคือราคาทองคำนั่นเอง หลักการอิสลามที่วางไว้ตั้งแต่เมื่อ 1400 กว่าปี ที่ผ่านมาจึงยังคงไม่ล้าสมัย และยังคงเป็นหลักการที่ยืนหยัดต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์สืบต่อไป

ตัวอย่างการบริจาคซะกาตเงินตรา

สมมุติว่าปีนี้ทองคำมีราคา 6,000 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท ผู้ที่มีเงินตราเก็บไว้ครบรอบปีและเกินจำนวนที่กำหนดไว้ คือเกินกว่าราคาทองคำหนัก 85 กรัม หรือ 5.67 บาท ต้องบริจาค 2.5% ของจำนวนเงินตราที่มีอยู่ คือ

6,000 x 5.67 = 34,020 บาท
ต้องบริจาค 2.5% = 850.50 บาท

ฉะนั้น ผู้ที่มีเงินตราสะสมไว้ครบรอบปีในปีนี้เกินกว่า 34,020 บาท ก็จะต้องบริจาค 2.5% ของจำนวนเงินตราที่มีอยู่

บุคคลที่พระองค์อัลเลาะห์ (ซ.บ) ได้กำหนดไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ให้เป็นผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับซะกาต มี 8 ประเภท คือ

  1. คนอนาถา (ฟะกีร) ได้แก่บุคคลไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ เนื่องจากขาดสมรรถภาพบางประการในร่างกาย จำเป็นต้องได้รับการอนุเคราะห์
  2. คนขัดสน (มีสกีน) ได้แก่ผู้ที่มีความสามารถจะเลี้ยงชีพได้แต่ขาดแคลน เนื่องจากความยากจน เช่น แม่หม้ายที่สามีตายต้องเลี้ยงลูกกำพร้าตามลำพังโดยที่ไม่มีทรัพย์สมบัติ
  3. ผู้รวบรวมและจ่ายซะกาต ได้แก่เจ้าหน้าที่ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นให้รวบรวมเก็บซะกาตไปแจกจ่ายแก่บุคคล หรือองค์การที่พึงได้รับ ซึ่งแสดงว่าการรวบรวมและการแบ่งทรัพย์นี้ต้องอาศัยองค์การกลาง ซึ่งเรียกว่า บัยตุลมาล คือคลังเก็บสิ่งที่ได้จากการรับซะกาต (คลังซะกาต)
  4. ผู้ที่ควรแก่การปลอบใจ ได้แก่ผู้ที่จะมาหรือได้รับนับถือศาสนาอิสลาม เมื่อเข้ามาใหม่ ๆ ก็อาจจะอัตคัตขาดแคลนด้วยถูกตัดญาติจากพ่อแม่พี่น้อง จึงสมควรได้รับการอุปการะ หากเป็นผู้มั่งคั่งก็ไม่ต้อง
  5. เชลยหรือทาส ซึ่งไม่สามารถไถ่ตนเองได้ แสดงถึงการที่อิสลามช่วยในการเลิกทาส
  6. ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการประกอบสัมมาอาชีวะ แต่หารเป็นหนี้จากการเสียพนัน การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ฯลฯ ไม่จัดอยู่ในประเด็นที่จะนำซะกาตไปไถ่ถอน
  7. ผู้เดินทาง ที่มีความจำเป็นต้องรับการช่วยเหลือ เช่น ขาดปัจจัยในการเดินทางกลับมาตุภูมิของตน
  8. การบริจาคในแนวทางของอัลเลาะห์ (พี สบีลิลลาฮ์) ในประเด็นนี้กว้างมาก นั่นคือในกิจการกุศลทั่วไป เช่น นำไปสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สาธารณสถานต่าง ๆ ปกป้องประเทศขจัดความไม่รู้หนังสือ ฯลฯ

ควบคู่กับการบริจาคทานนี้ อิสลามห้ามอย่างเด็จขาดในเรื่อง"ดอกเบี้ย" เพราะการบริจาคทานเป็นการสงสารมนุษย์เท่าใด ดอกเบี้ยก็เป็นการกำจัดการสงสารมากขึ้นเท่านั้น

ซะกาตฟิตเราะห์

ซะกาตฟิตเราะห์เป็นทานบังคับอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับแก่มุสลิมทุก ๆ คน มุสลิมทุกคนต้องบริจาคในวาระสุดท้ายของการการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ดังพระวจนะของท่านศาสดามุฮำหมัด (ซ.ล.) ความว่า

"ซะกาตฟิตเราะห์ ทำความสะอาดแก่ผู้ถือศีลอด จากความสูญเปล่าและความหยาบคาย และเป็นการเลี้ยงดูแก่บรรดาคนขัดสน ดังนั้น บุคคลใดชำระมันก่อนละหมาด นั้นเป็นซะกาตที่ถูกรับรอง และผู้ชำระมันหลังจากละหมาด มันก็เป็นเพียงทำทานครั้งหนึ่งจากบรรดาทานทั้งหลาย"

ฉะนั้น "ฟิตเราะห์" ถือเป็นซะกาตส่วนบุคคล หมายความว่า เป็นทานที่มุสลิมทุกคนที่เกิดมาก่อนเวลาการละหมาดเนื่องในวันอีดิ้ลฟิตรี (วันรายอปอซอ) หรือมีชีวิตถึงจะต้องบริจาค จึงเป็นซะกาตที่ไม่จำกัด วัย เพศ ฐานะ หรือรายได้เช่นซะกาตประจำปี จำกัดเพียงครอบครัวนั้นต้องมีรายได้ที่จะซื้ออาหารรับประทานในวันนั้นและมี พอที่จะบริจาคได้ แต่หากครอบครัวใดไม่อยู่ในภาวะที่จะบริจาคได้ อิสลามก็อนุมัติให้ไม่ต้องบริจาคซะกาตฟิตเราะห์ หากแต่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้รับบริจาคซะกาตนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเพื่อนบ้านและผู้นำศาสนาประจำหมู่บ้านที่พึงสอดส่อง เพื่อช่วยเหลือครอบครัวเหล่านี้

จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัวที่มีพอที่จะบริจาคจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ ให้แก่ทุกคนที่อยู่ในความรับผิดชอบ สำหรับระยะเวลาของการบริจาคนั้นจะ ต้องบริจาคก่อนถึงวันอีด (อีดิ้ลฟิตรี) แต่ต้องเป็นช่วงเช้าตรู่ก่อนที่จะมีการละหมาดเนื่องในวันอีดนั้น

สิ่งของที่ใช้ในการบริจาค มักใช้สิ่งที่ใช้บริโภคเป็นอาหารหลักของท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ข้าวสาร ข้าวเหนียว ข้าวสาลี ข้าวบาเล่ย์ ฯลฯ โดยใช้อัตราประมาณ 2.75 ลิตรต่อ 1 คน แต่อาจใช้เงิน โดยคิดตามราคาข้าวจำนวนดังกล่าวก็ได้

บุคคลที่มีสิทธิ์ได้รับซะกาตฟิตเราะห์ คือ บุคคลและกิจการทั้ง 8 ประเภท เช่นเดียวกับซะกาตประจำปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจนขัดสน 2 ประเภทแรก สมควรได้รับการพิจารณาก่อน

ซะดะเก๊าะห์ หมายถึง การบริจาคทาน ซึ่งเป็นทานบริจาคตามสมัครใจ(ทานอาสา) มิได้บังคับหรือมีกฎเกณฑ์เหมือนดั่งการบริจาคซะกาต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น